Details สามัญประจำบ้าน
29 ม.ค. 2556 | 5642 views
เคยได้ยินวลีว่า "God is in the Details" ไหมครับ
นอกจากพื้นที่ใช้สอย ระยะ และรูปแบบของพื้นที่แล้ว ความงาม ความลงตัว และการใช้ประโยชน์ได้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ “Detail” หรือรายละเอียดของงานด้วย คอลัมน์ “สถาปัตยกรรม” ฉบับนี้ขอเสนอรายละเอียดที่สำคัญของบ้าน ซึ่งจะทำให้บ้านของเราใช้งานได้ดีและสวยงามลงตัวมากขึ้น ถือเป็น Details สามัญประจำบ้านก็ว่าได้ครับ
1. ระเบียงไม้
ดูเผินๆระเบียงไม้อาจไม่มีรายละเอียดอะไรน่าเป็นห่วง แต่ภายใต้พื้นไม้เว้นร่องที่น้ำฝนไหลผ่านลงไปได้นั้นสำคัญกว่า หากเป็นพื้นไม้ที่ติดตั้งบนโครงคร่าวไม้หรือเหล็กก็อาจไม่มีปัญหาเรื่องความชื้น แต่ถ้าเป็นระเบียงไม้ที่มีพื้นคอนกรีตรองรับอยู่ด้านล่าง สิ่งที่ควรคำนึงถึงมีดังนี้
ลูกปูน จำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง ควรหนุนลูกปูนสูงประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้โครงสร้างพื้นไม้สัมผัสน้ำตลอดเวลา มิฉะนั้นไม้อาจผุเสียหายได้
การเทสโลปที่ถูกต้อง ต้องทำให้พื้นคอนกรีตมีความลาดเอียงไปยังตำแหน่งของท่อระบายน้ำที่เตรียมไว้
ช่องน้ำล้นช่วยกันน้ำล้น ช่องน้ำล้นมีขนาดประมาณ 5 x 15 เซนติเมตร เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี โดยติดตั้งเหนือจากพื้นคอนกรีตประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการระบายน้ำกรณีที่ท่อระเบียงระบายไม่ทัน เป็นการป้องกันน้ำท่วมระเบียงนั่นเอง
2. เซาะร่อง
เซาะร่อง คือ แนวร่องที่ทำบนพื้นผิวซีเมนต์ของอาคารเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆดังต่อไปนี้
ลดการแตกร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวของโครงสร้าง ระหว่างการก่อผนังแม้ช่างจะเสียบเหล็กหนวดกุ้งที่เสาแล้วก็ตาม แต่ก็อาจเกิดการทรุดตัวของโครงสร้างและเกิดรอยร้าวระหว่างเสาคานกับผนังได้ การเซาะร่องตามแนวรอยต่อของเสาคานกับผนังจะช่วยลดการแตกร้าวและควบคุมทิศทางของแนวแตกให้เกิดในร่องที่เซาะไว้แล้วเท่านั้น
ป้องกันการแตกร้าวที่เกิดจากการยืดหรือหดตัวของวัสดุ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ธรรมชาติของวัสดุก่อสร้างจะมีการหดและขยายตัว ซึ่งอาจทำให้พื้นผิวของวัสดุเกิดรอยแตกร้าวได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นผิวปูนฉาบ จึงควรทำเส้นเซาะร่องเป็นระยะทุก 3-4 เมตร หรืออาจเซาะร่องที่แนวรอยต่อของเสาคานกับผนังก็ได้เช่นกัน
ช่วยจบรอยต่อของวัสดุสองชนิดที่มาชนกัน การก่อสร้างโดยปกติเมื่อมีวัสดุสองชนิดมาชนกันก็มักเกิดรอยต่อที่ดูไม่เรียบร้อย เช่น รอยต่อระหว่างวงกบประตู-หน้าต่างกับผนังปูนฉาบ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผิวปูนฉาบที่มีความหนาไม่เพียงพอเกิดการหลุดล่อน การเซาะร่องตรงรอยต่อระหว่างวงกบประตู-หน้าต่างกับผนังปูนฉาบจะช่วยให้เกิดความเรียบร้อยบริเวณรอยต่อ อีกทั้งผิวปูนฉาบไม่หลุดล่อนด้วย
เพิ่มลวดลายและลูกเล่นให้ผนังที่เรียบเกินไป สำหรับอาคารที่มีพื้นที่ผนังขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดความรู้สึกน่าเบื่อ การเพิ่มลวดลายให้ผนังด้วยการเซาะร่องก็เป็นลูกเล่นที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้อาคารได้อย่างหนึ่ง และในแง่ของจิตวิทยาก็ยังเป็นการลดขนาดของห้อง ทำให้ห้องนั้นดูอบอุ่นและน่าอยู่ยิ่งขึ้น
วิธีเซาะร่องที่นิยมทำกันก็คือใช้อุปกรณ์เซาะทำร่องในขณะที่ปูนกำลังเซตตัว หรือจะใช้เซาะร่องพีวีซีหรือ สเตนเลสฝังบนพื้นผิวขณะที่ปูนกำลังเซตตัวก็ได้เช่นกัน
3. หลังคาคอนกรีตเรียบ
หลังคาคอนกรีตเรียบนั้นมีรายละเอียดมากกว่าหลังคาประเภทอื่น โดยเฉพาะเรื่องความร้อนและการป้องกันการรั่วซึม การผสมสารกันซึมในเนื้อคอนกรีตระหว่างการผสมและเทคอนกรีตจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ
แผ่นโซลาร์สแล็บช่วยให้หลังคาเย็นขึ้น การปูหลังคาคอนกรีตด้วยแผ่นโซลาร์สแล็บ (แผ่นคอนกรีตที่มีขาสี่มุมและยกสูงขึ้นมา 3 – 5 เซนติเมตร) ทำให้เกิดช่องว่างใต้แผ่น ช่วยลดความร้อนและป้องกันหลังคาคอนกรีตแตกร้าวเนื่องจากการหดหรือขยายตัว
การระบายน้ำผ่านช่องน้ำล้น (Overflow) ช่องน้ำล้นจะช่วยระบายน้ำในกรณีที่ท่อระบายน้ำบนหลังคาระบายไม่ทัน ตำแหน่งของช่องน้ำล้นจะอยู่สูงจากพื้นหลังคาประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร เมื่อระบายน้ำไม่ทันและน้ำเอ่อสูงถึงขอบช่องน้ำล้นนี้ น้ำก็จะถูกระบายออกไม่ให้สะสมมากเกินไปจนอาจเข้าไปภายในบ้าน วัสดุที่ใช้ทำช่องน้ำล้นมีทั้งสเตนเลสที่นำมาพับตามแบบและติดตั้งเข้าไป หรืออาจเจาะช่องธรรมดาก็ได้ แล้วแต่ความชอบและงบประมาณ
4. ประตู หน้าต่าง และช่องเปิด
ประตู หน้าต่าง และช่องเปิดมีความสำคัญตรงที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสิ่งแวดล้อมภายนอกบ้านกับบรรยากาศภายในบ้าน นำแสงและลมธรรมชาติเข้ามาช่วยให้บ้านเกิดภาวะน่าสบาย แต่มักมาพร้อมกับปัญหารั่วซึมของน้ำฝนและอื่นๆ สิ่งที่พึงใส่ใจมีดังนี้
บริเวณธรณีของประตู ควรลดระดับลงประมาณ 5 - 7 เซนติเมตร เพื่อกันน้ำฝนสาดเข้ามาตามช่องว่างระหว่างประตูกับพื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประตูที่ภายนอกไม่ได้มีกันสาดป้องกันน้ำฝน
TIP
หากต้องการสกัดพื้นบริเวณธรณีประตูเพื่อลดระดับ ควรปรึกษาสถาปนิกและผู้รับเหมา รวมถึงตรวจสอบว่ากระทบกับแนวโครงสร้างหลักของอาคารหรือไม่ นอกจากนี้การลดระดับยังต้องสัมพันธ์กับขนาดบานประตูที่ต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย
บริเวณวงกบและช่องว่างระหว่างประตู ควรมีลักษณะ “บังใบ” คือการทำให้ความกว้างของสันบานประตูมีความสูงต่ำแตกต่างกัน ทำให้ไม้อีกส่วนหนึ่งเตี้ยลงประมาณ 1 เซนติเมตร ลักษณะซ้อนเหลื่อมกันดังภาพ จะช่วยป้องกันน้ำฝนสาดได้
บริเวณทับหลังหรือวงกบบนของหน้าต่าง มักมีการเพิ่ม “บัวหยดน้ำ” ลักษณะเป็นร่องเล็กๆเพื่อป้องกันและหยุดการลามของน้ำฝนเข้ามาสู่ขอบหน้าต่างด้านใน โดยทำเป็นร่องกว้างและลึกประมาณ 1 เซนติเมตร เว้นจากขอบด้านนอกเข้ามาประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร
TIP
การเพิ่มแนวบัวหยดน้ำในแบบที่ยื่นออกมาจากอาคารด้านบนควรปรับให้มีความลาดเอียงสักเล็กน้อย เพื่อลดปัญหารั่วซึมที่อาจเกิดขึ้น
บริเวณรางด้านล่างของชุดหน้าต่างอะลูมิเนียม ควรเพิ่ม “รูระบายน้ำขนาดเล็ก” รูปทรงคล้ายแคปซูลเพื่อระบายน้ำฝนที่มักไหลเข้ามาในร่องของรางหน้าต่าง
TIP
รายละเอียดและคุณภาพของชุดหน้าต่างอะลูมิเนียมมักมีความแตกต่างกันไปในแต่ละเจ้า ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันและการใช้งาน รวมถึงราคาที่เราต้องจ่าย แต่มาตรฐานของชุดหน้าต่างอะลูมิเนียมที่ดีต้องสามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำฝนและอากาศจากภายนอก โดยตรวจสอบแบบก่อนการสร้างจริง พร้อมปรึกษาสถาปนิกเพื่อดูลักษณะของรูปตัดหรือ “Profile” ที่เหมาะสม
การเลือกกระจกสำหรับหน้าต่าง แนะนำให้ใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass) เนื่องจากเมื่อเกิดการแตกร้าว เศษของกระจกจะมีลักษณะเหมือนเม็ดข้าวโพดเล็กๆ ไม่มีคม จึงเป็นอันตรายน้อยกว่ากระจกแบบธรรมดาที่หากเกิดการแตกร้าวจะมีลักษณะเป็นปากฉลาม ซึ่งเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้งาน
TIP
กระจกนิรภัยเทมเปอร์ที่ได้มาตรฐานจะมีการติดตัวหนังสือสีขาวเล็กๆไว้ที่มุมของแผ่นกระจก เพื่อบอกชนิดของกระจกและมาตรฐานการรับรอง
5. ชายคา
ชายคาหลังคาที่ดีควรมีการยื่นยาวออกมาจากผนังบ้านอย่างพอดี แล้วแต่ทิศทางของผนังนั้นว่าอยู่ทิศไหน และต้องการการป้องกันแสงแดดมากน้อยเพียงใด เพราะหากยื่นยาวมากเกินไปก็จะบังลมที่พัดเข้ามาภายในบ้านได้
การเลือกวัสดุสำหรับฝ้าชายคา ควรเลือกชนิดที่ทนการสัมผัสน้ำฝนได้โดยตรง อาทิ แผ่นแคลเซียมซิลิเกต หรือวัสดุทนสภาพอากาศซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกใช้มากขึ้น บางเจ้ามีการเพิ่มรูระบายอากาศเล็กๆเพื่อระบายอากาศบริเวณเหนือฝ้าอีกด้วย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฝ้ายิปซั่มแบบธรรมดาและแบบทนความชื้น เพราะวัสดุประเภทนี้ไม่ทนการสัมผัสน้ำฝนโดยตรง
ตะแกรงลวดกันแมลง หากเป็นฝ้าชายคาแบบโปร่งหรือระแนงที่มีช่องว่างสำหรับถ่ายเทอากาศ ก่อนที่เราจะติดตั้งวัสดุกรุเพดานบริเวณชายคา ควรปูตะแกรงลวดกันแมลงก่อน ช่วยป้องกันไม่ให้แมลงเข้าไปก่อปัญหาในภายหลัง
6. ราวกันตก
ความสูงของราวกันตก ควรสูงประมาณ 90 เซนติเมตร – 1เมตร (วัดจากระดับพื้นถึงระดับราวจับด้านบน) แต่ถ้าเป็นราวกันตกที่อยู่บนอาคารสูงควรสูง 1.10 เมตรขึ้นไป เพื่อความปลอดภัย
ระยะห่างลูกกรงราวกันตก ควรออกแบบซี่ราวกันตกให้มีลักษณะเป็นแนวตั้งมากกว่าแนวนอน และมีระยะห่างระหว่างซี่ราวกันตกน้อยกว่า 10 เซนติเมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการร่วงหล่นของวัตถุต่างๆ รวมถึงการปีนป่ายของเด็กเล็ก
การเลือกกระจกราวกันตก คล้ายคลึงกับการเลือกชนิดกระจกสำหรับหน้าต่าง แต่ควรคำนึงถึงการยึดกระจกแต่ละแผ่นว่าแข็งแรงหรือมีการสั่นไหวระหว่างการใช้งานหรือไม่ ถ้าพบปัญหาควรแก้ไขทันที โดยเพิ่มตัวยึดให้มากขึ้น
7. บันได
ระยะลูกตั้งลูกนอนที่เหมาะสม หลักการออกแบบระยะลูกตั้งและลูกนอนมีหลายวิธี แต่ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “ระยะลูกตั้ง + ระยะลูกนอน = 45 เซนติเมตร “อาทิ หากระยะลูกตั้ง เท่ากับ 17.5 เซนติเมตร ระยะลูกนอนที่เหมาะสมคือ 27.5 เซนติเมตร โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 กำหนดให้บ้านพักอาศัยต้องมีระยะลูกนอนไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และระยะลูกตั้งต้องไม่เกิน 20 เซนติเมตร
จมูกบันได เป็นส่วนที่อยู่ตอนปลายของระยะลูกนอนและเป็นรายละเอียดสำคัญที่ต้องอยู่คู่กับการออกแบบบันไดเสมอ มีหน้าที่ป้องกันการลื่นล้มระหว่างเดินขึ้นและลง จมูกบันไดมีหลากหลายรูปแบบและวัสดุ ขึ้นอยู่กับความชอบและราคาที่ต่างกัน เช่น พีวีซี อะลูมิเนียม หรือสเตนเลส หากท่านใดออกแบบบันไดที่มีพื้นผิวเป็นคอนกรีตก็สามารถทำจมูกบันไดไปพร้อมกันได้เลย
@ขอบคุณ บ้านและสวน www.baanlaesuan.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น